หากพูดถึงกัญชาทางการแพทย์ พบว่า “ช่อดอกกัญชาตัวเมียที่ยังไม่ได้ถูกผสม” เป็นส่วนที่นิยมเก็บเกี่ยวไปใช้ในการรักษาโรค เนื่องจากช่อดอกมีสารสำคัญประเภท “แคนนาบินอยด์” (cannabinoids) ซึ่งได้แก่ delta-9-tetrahydrocannabinol (THC) และ Cannabidiol (CBD) รวมทั้งแคนนาบินอยด์ชนิดอื่นๆ อีกมากกว่า 400 ชนิด แต่ THC และ CBD เป็นแคนนาบินอยด์ที่ได้รับการศึกษาวิจัยและเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย
สรรพคุณของ THC และ CBD
THC มีสรรพคุณ เพิ่มความอยากอาหาร แก้อาเจียน ลดปวด ต้านอักเสบ และที่สำคัญสามารถออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท (ทำให้ผู้ที่ได้รับมีอาการเคลิ้มสุข อารมณ์ดี หัวเราะคิกคัก มีความคิดสร้างสรรค์ และเพิ่มความไวต่อการรับความรู้สึกทางแสง รส กลิ่น เสียง และสัมผัส)
CBD มีสรรพคุณ แก้อาเจียน ลดปวด ต้านอักเสบ แต่ไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ทั้งนี้ หากใช้ร่วมกับ THC จะสามารถต้านฤทธิ์ต่อจิตประสารทจาก THC ได้
โรคหรือภาวะที่อาจพิจารณาใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์
ปัจจุบันมีโรคหรือภาวะบางประการที่อาจพิจารณาใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์เป็นการรักษาเสริม หรือควบรวมกับยาแผนปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาเป็นการรักษาเริ่มต้น ทั้งนี้ โรคหรือภาวะดังกล่าวข้างต้น ได้แก่
1. ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด ได้แก่ ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัดซึ่งมีอาการคลื่นไส้อาเจียนจากผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัด โดยในต่างประเทศแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชารูปแบบรับประทานที่มีเฉพาะ THC เท่านั้น
2. ภาวะปวดเส้นประสาท (Neuropathic Pain) ซึ่งมีคุณลักษณะสำคัญเช่น ปวดร่วมกับอาการชาคล้ายเข็มทิ่ม ปวดแสบปวดร้อน ปวดคล้ายกับถูกไฟดูด ปวดบริเวณผิวหนังที่เส้นประสาทมาเลี้ยง หรือปวดบริเวณที่สัมผัสกับเสื้อผ้าหรือลมพัดผ่าน โดยในต่างประเทศแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชารูปแบบสเปรย์ที่มีส่วนผสมของ THC และ CBD ในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 ใช้ฉีดพ่นเข้าไปทางเยื่อบุช่องปาก เพื่อให้สารสำคัญดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด และก่อให้เกิดฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
3. ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งจากโรคปลอกประสาทเสื่อม (Multiple Sclerosis) ซึ่งอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อทำให้เกิดความเจ็บปวดอย่างมาก โดยในต่างประเทศแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชารูปแบบสเปรย์ เช่นเดียวกับที่อธิบายไว้ในข้อ 2
4. โรคลมชักที่รักษายากหรือดื้อต่อยารักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน เช่น ลมชักชนิด Dravet และ Lennox-Gastaut syndromes โดยในต่างประเทศแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์รูปแบบรับประทานที่มีเฉพาะ CBD เท่านั้น
เป็นที่น่าสังเกตว่า โรคหรือภาวะที่อาจพิจารณาใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ (เป็นการรักษาเสริมหรือควบรวมกับยาแผนปัจจุบัน) นั้น ในต่างประเทศมีหลักฐานสนับสนุนว่า บางภาวะแนะนำให้ใช้เฉพาะ THC เท่านั้น แต่บางภาวะแนะนำให้ใช้ THC และ CBD ร่วมกัน ในขณะที่บางภาวะแนะนำให้ใช้เฉพาะ CBD เท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้การรักษาภาวะนั้นๆ เกิดประสิทธิผลสูงสุด และลดผลข้างเคียงให้น้อยที่สุด
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากประโยชน์ทางการแพทย์ข้างต้น ปัจจุบันยังมีโรค/ภาวะอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวาง เพื่อหาหลักฐานสนับสนุนว่า จะได้ประโยชน์จากการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ (ในการควบคุมอาการ) หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย (ที่มีอาการปวด รับประทานอาหารไม่ได้ คลื่นไส้อาเจียนมาก) รวมทั้งผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรควิตกกังวล (ชนิด generalized anxiety disorders) โรคปลอกประสาทอักเสบ (demyelinating disease) อื่นๆ
การใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย การใช้กัญชาทางการแพทย์ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกกัญชา การผลิต การแปรรูป การสกัด และการจ่ายยา ทั้งนี้ ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ที่มีใช้ในประเทศไทยมีดังนี้
1. ผลิตภัณฑ์ขององค์การเภสัชกรรม (GPO)
1.1 น้ำมันกัญชารูปแบบหยดใต้ลิ้นที่มีเฉพาะ THC เท่านั้น
1.2. มีน้ำมันกัญชารูปแบบหยดใต้ลิ้นที่มีทั้ง THC และ CBD ในอัตราส่วน 1 ต่อ 1
1.3. น้ำมันกัญชารูปแบบหยดใต้ลิ้นที่มีเฉพาะ CBD เท่านั้น
2. ผลิตภัณฑ์ของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
เป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชารูปแบบหยดใต้ลิ้นที่มีเฉพาะ THC เท่านั้น หรือ มีทั้ง THC และ CBD ในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 หรือ มีเฉพาะ CBD เท่านั้น (คล้ายคลึงกับผลิตภัณฑ์ขององค์การเภสัชกรรม ดังกล่าวในข้อ 1)
3. ผลิตภัณฑ์กัญชาตำรับยาแผนไทยของโรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร (ใช้ชื่อว่า อาจารโร เฮิร์บ)
เป็นผลิตภัณฑ์ตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ ปัจจุบันมีทั้งหมด 16 ตำรับ เช่น ตำรับศุขไสยาศน์ (ช่วยให้นอนหลับเจริญอาหาร ฟื้นฟูกำลังของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง) ตำรับอัคคินีวคณะ (แก้คลื่นเหียนอาเจียน ช่วยเจริญอาหาร บำรุงธาตุทั้ง 4 ชูกำลัง) ตำรับทัพยาธิคุณ (ลดอาการมือชาเท้าชาในผู้ป่วยโรคเบาหวาน และใช้รักษาอาการมือเท้าบวมในผู้ป่วยมะเร็งตับ) ตำรับทำลายพระสุเมรุ (บรรเทาอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ แขนขาอ่อนแรง ชา ในผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มประสิทธิผลและลดผลข้างเคียงของการรักษา การใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาต่างๆ ข้างต้น ควรอยู่ภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์แผนที่เกี่ยวข้อง
ระยะเวลาที่เริ่มออกฤทธิ์เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์กัญชารูปแบบต่างๆ
ระยะเวลาที่เริ่มออกฤทธิ์สัมพันธ์กับรูปแบบการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา ดังนี้
ก. รูปแบบสูบควันหรือสูดไอระเหย (เช่น การพันมวนสูบ การสูบโดยใช้ไปป์ การสูบโดยใช้บ้อง หรือ การสูบไอระเหยผ่านอุปกรณ์พิเศษ) การใช้กัญชารูปแบบนี้ สารสำคัญ เช่น THC จะเริ่มออกฤทธิ์ราว 5 นาทีหลังสูบควันหรือสูดไอระเหย ทั้งยังอาจทำให้เกิดอาการเมากัญชา ซึ่งสังเกตได้จากการที่ผู้ใช้มักอารมณ์ดี คอแห้ง ตาแดง และง่วงหลับ
ข. รูปแบบสเปรย์ผ่านเยื่อบุช่องปาก (เช่น ผลิตภัณฑ์บรรเทาอาการปวดเส้นประสาท หรือบรรเทาอาการหดเกร็งกล้ามเนื้อจากโรคปลอกประสาทเสื่อม) การใช้ผลิตภัณฑ์รูปแบบนี้ สารสำคัญจะเริ่มออกฤทธิ์ราว 30 นาทีหลังสเปรย์ผ่านเยื่อบุช่องปาก (หมายเหตุ: รูปแบบนี้น่าจะเทียบเคียงได้กับผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชารูปแบบหยดใต้ลิ้น)
ค. รูปแบบรับประทาน การใช้ผลิตภัณฑ์รูปแบบนี้ สารสำคัญจะเริ่มออกฤทธิ์ราว 2-3 ชั่วโมงหลังรับประทาน
อาการไม่พึงประสงค์ที่สัมพันธ์กับการใช้กัญชา
ก. อาการที่พบบ่อยมาก เช่น ง่วงนอน อ่อนเพลีย วิงเวียน ปากแห้ง วิตกกังวล คลื่นไส้ ผลต่อความคิดและสติปัญญา ไอ มีเสมหะ หลอดลมอักเสบ (พบจากการสูบกัญชาเท่านั้น)
ข. อาการที่พบบ่อย เช่น เคลิ้มสุข ตาพร่ามัว ปวดหัว
ค. อาการที่พบน้อย เช่น หน้ามืดเมื่อลุกขึ้นยืน อาการทางจิต หวาดระแวง ซึมเศร้า เดินเซ เสียการทรงตัว หัวใจเต้นเร็ว (พบน้อยหากค่อยๆ ปรับขนาดขึ้น) อาเจียน ท้องเสีย
วิธีหลีกเลี่ยงอาการไม่พึงประสงค์จากกัญชา
โดยทั่วไป สามารถพิจารณาใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาภายใต้หลักการดังต่อไปนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการไม่พึงประสงค์
1. Start low หมายถึง เริ่มใช้ (ผลิตภัณฑ์รูปแบบที่เหมาะสม) ในขนาดต่ำๆ
2. Go slow หมายถึง ค่อยๆ เพิ่มปริมาณ หากยังไม่ได้สรรพคุณที่ต้องการ
3. Stay low หมายถึง หากปรับขนาดยาขึ้นช้าๆ จนหาขนาดต่ำสุดที่ได้สรรพคุณแล้ว ให้ถือว่าขนาดนั้นคือขนาดที่เหมาะสมสำหรับการใช้รักษาภาวะ/โรคนั้นๆ ในระยะยาว
สิ่งที่ผู้บริโภคต้องรู้เกี่ยวกับอาหารที่ใส่กัญชาในยุคปลดล็อคกัญชา
โดยทั่วไปแนะนำให้ใช้ส่วน “ใบกัญชา” มาประกอบอาหาร โดยพบว่า ใบสดมีสารเมา (THC) ค่อนข้างน้อย แต่จะมีสาร THCA (tetrahydrocannabinoic acid) ซึ่งไม่ทำให้เมา อย่างไรก็ตาม หาก THCA ผ่านความร้อนจากกระบวนการปรุงอาหาร จะมีโอกาสเปลี่ยนเป็น THC ซึ่งหากได้รับ THC ในปริมาณมากอาจทำให้เมาได้ ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่เพิ่มปริมาณสารเมาในเมนูอาหาร มีดังนี้
ก. การปรุงที่ผ่านความร้อน ดังอธิบายแล้วข้างต้น
ข. ระยะเวลาในการปรุงด้วยความร้อน หากใช้ระยะเวลานาน โอกาสเกิดสารเมาก็จะมากขึ้น
ค. ส่วนประกอบของไขมันในอาหารประเภทนั้นๆ เป็นที่ทราบกันดีว่า THC ไม่ละลายน้ำ แต่สามารถละลายในไขมันได้ดี ดังนั้นหากปรุงเมนูกัญชาด้วยความร้อน ปรุงนาน และมีไขมันเป็นส่วนประกอบ (เช่น ใส่น้ำมัน หรือใส่เนย) จะทำให้เมนูนั้นๆ มี THC ในปริมาณที่สูงขึ้น
ง. ส่วนและปริมาณของกัญชาที่นำมาปรุงอาหาร หากนำใบสดในปริมาณมาก หรือใช้ช่อดอก (ซึ่งมี THC มากอยู่แล้ว) มาปรุงด้วยความร้อนสูง/ใช้เวลาปรุงนาน จะทำให้มี THC ในปริมาณที่สูงขึ้น ทำให้มีอาการเมา หัวใจเต้นเร็ว เต้นแรง เป็นต้น
คำเตือนในการใช้กัญชา
การใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาอาจทำให้ง่วงนอน ดังนั้นจึงไม่ควรขับยวดยานพาหนะ และไม่ทำงานกับเครื่องจักรกล นอกจากนี้ควรระมัดระวังเป็นพิเศษในผู้ป่วยที่มีโรคหรือภาวะ ดังนี้
โรคจิต: การใช้กัญชาในผู้ที่เป็นโรคจิตมาก่อน หรือมีอาการของโรคอารมณ์แปรปรวน (concurrent active mood disorder) หรือ โรควิตกกังวล (anxiety disorder) มีโอกาสทำให้อาการดังกล่าวกำเริบ
โรคหัวใจ: มีรายงานว่าการใช้กัญชาสัมพันธ์กับการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย (รวมถึงการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต) ได้
โรคตับ: โดยปกติตับจะทำหน้าที่เปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของแคนนาบินอยด์ให้พร้อมสำหรับการขจัดออกจากร่างกาย ดังนั้นในผู้ป่วยโรคตับ สารแคนนาบินอยด์อาจจะค้างอยู่ในร่างกาย ทำให้ออกฤทธิ์ได้มาก/นานกว่าปกติ
ผู้ใช้ที่อายุน้อย: มีรายงานว่าการใช้กัญชาครั้งแรกตั้งแต่ตอนอายุยังน้อย เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางจิตเวช (เช่น โรคจิตเภท และไบโพลาร์) โดยมีโอกาสเกิดได้เร็วกว่าปกติ
ผู้สูงอายุ: เป็นกลุ่มที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้มากกว่าคนหนุ่มสาว
สตรีมีครรภ์ สตรีที่ให้นมบุตร รวมถึงสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่ไม่ได้คุมกำเนิด (หรือสตรีที่วางแผนจะตั้งครรภ์): มีรายงานว่าการใช้กัญชาเพิ่มโอกาสที่ทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักตัวน้อย รวมถึงพบ cannabinoids ในน้ำนมแม่ได้
บทสรุป
ข้อบ่งชี้ของการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ ได้แก่ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด ภาวะปวดเส้นประสาท ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งจากโรคปลอกประสาทเสื่อม โรคลมชักที่รักษายากหรือดื้อต่อยารักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน ทั้งนี้ ตามแนวทางเวชปฏิบัติจะพิจารณาใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์เป็นการรักษาเสริมหรือควบรวมกับยาแผนปัจจุบันเท่านั้น (ไม่ใช้เป็นการรักษาเดี่ยวหรือการรักษาเริ่มต้น) นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องพิจารณาใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมต่อข้อบ่งชี้นั้นๆ โดยเลือกจาก (1) ผลิตภัณฑ์ที่มีเฉพาะ THC หรือ (2) มี THC ร่วมกับ CBD หรือ (3) มีเฉพาะ CBD ทั้งนี้ เพื่อให้การรักษาภาวะนั้นๆ เกิดประสิทธิผลสูงสุด และลดผลข้างเคียงให้น้อยที่สุด
อาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยมากจากการใช้กัญชา ได้แก่ ง่วงนอน อ่อนเพลีย วิงเวียน ปากแห้ง วิตกกังวล คลื่นไส้ หากต้องการหลีกเลี่ยงอาการไม่พึงประสงค์จากกัญชา ให้พิจารณาใช้ภายใต้หลักการ: Start low – Go slow – Stay low อนึ่ง ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทุกรูปแบบไม่ควรขับยวดยานพาหนะหรือทำงานกับเครื่องจักรกลเพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย และไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคจิต โรคหัวใจ โรคตับ ผู้ที่อายุน้อย ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และสตรีที่ให้นมบุตร
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: รศ.ดร.นพ.ศุภนิมิต ทีฆชุณหเถียร หัวหน้าภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เรียบเรียง:นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่