หากพูดถึงกัญชา สารในกัญชาที่หลายคนอาจเคยได้ยินกันมาบ้างคงหนีไม่พ้นสาร THC และ CBD ซึ่งมีการนำมาศึกษาและใช้เพื่อประโยชน์ทางด้านสุขภาพ ทว่าสารในกัญชาเหล่านี้อาจส่งผลเสียต่อร่างกายผู้ใช้ได้เช่นกัน โดยเฉพาะหากขาดความรู้และความระมัดระวังในการใช้ผลิตภัณฑ์จากกัญชา
แม้ในปัจจุบันกัญชาจะถูกปลดล็อกออกจากการเป็นยาเสพติดแล้วเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 และสารในกัญชาเองก็ถูกนำมาต่อยอดพัฒนาและใช้กันมากขึ้น แต่การใช้กัญชาก็ยังคงต้องมีขอบเขตที่ผู้ผลิตหรือผู้ใช้ควรยึดถือ มิฉะนั้นอาจขัดต่อข้อกฎหมายและเสี่ยงต่อการเสพติดหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ บทความนี้จึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับสารในกัญชาทั้งสองชนิดกัน
สารในกัญชา THC และ CBD กับประโยชน์ที่ควรรู้
กัญชานั้นประกอบไปด้วยสารในกลุ่มแคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) กว่า 100 ชนิด แต่ในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะสารสำคัญสองชนิดที่มีการศึกษาและนำมาใช้ในทางการแพทย์กันมากที่สุด นั่นก็ สาร THC และ CBD
สารทั้งสองชนิดพบได้ในทุกส่วนของกัญชา ไม่ว่าจะใบ ดอก ก้าน ลำต้น หรือราก โดยกัญชามักมีปริมาณ THC สูงกว่า CBD และในแต่ละส่วนจะมีปริมาณสารมากน้อยแตกต่างกันไป
การรับประทานหรือสูบกัญชาโดยตรงจึงอาจทำให้ร่างกายได้รับสาร THC มากกว่าสาร CBD แตกต่างจากการใช้ในรูปของสารสกัด ซึ่งผ่านการควบคุมปริมาณสาร THC และ CBD ตามที่กฎหมายกำหนดมาแล้ว จึงมักมีความเสี่ยงน้อยกว่า
อย่างไรก็ตาม สารทั้งสองชนิดต่างก็มีประโยชน์ทางการแพทย์ที่คล้ายคลึงกัน ดังนี้
- สาร THC (Tetrahydrocannabinol) มีส่วนช่วยลดอาการปวด กล้ามเนื้อหดเกร็ง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน วิตกกังวล หรือนอนไม่หลับ
- สาร CBD (Cannabidiol) ออกฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการปวด ชัก วิตกกังวล นอนไม่หลับ ซึมเศร้า รวมถึงช่วยต้านอาการทางจิตจากสาร THC ในบางกรณีด้วย
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาว่าการใช้สาร THC และ CBD น่าจะมีประโยชน์ในการดูแลรักษาปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรควิตกกังวลทั่วไป โรคซึมเศร้า โรคปลอกประสาทอักเสบ และอาจจะมีประโยชน์ในโรคต้อหินและโรคมะเร็ง
แต่จำเป็นต้องรอผลการศึกษาวิจัยในคนให้มากขึ้น เพื่อดูความเป็นไปได้และความปลอดภัยในการนำมาใช้กับผู้ป่วยในอนาคต ปัจจุบันทางการแพทย์ไม่ได้ใช้สารสกัดกัญชามารักษาผู้ป่วยเป็นลำดับแรก แต่จะใช้เพื่อเป็นส่วนเสริมกับการรักษาตามมาตรฐาน โดยอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
ข้อควรระวังจากสารในกัญชา
แม้สารในกัญชาจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ก็มีข้อเสียและข้อควรระวังเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น
ผลข้างเคียงจากสาร THC และ CBD
สาร THC อาจส่งผลให้เวียนศีรษะ อาเจียน หัวใจเต้นเร็วขึ้น ปากแห้ง ตาแดง ร่างกายตอบสนองได้ช้าลง อวัยวะทำงานไม่สมดุลกัน มีปัญหาด้านความจำ หรือวิตกกังวล
หากได้รับสาร THC ในปริมาณมากอาจทำให้เกิดอาการเคลิ้มสุข (Euphoria) ใจสั่น หน้ามืด เห็นภาพหลอน ในระยะยาวอาจเสี่ยงต่อการเสพติด โรคทางจิต หรือการฆ่าตัวตายได้
ในขณะที่สาร CBD นั้นก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้บ้าง แต่ผลข้างเคียงส่วนใหญ่มักเกิดจากการทำปฏิกิริยาระหว่างสาร CBD กับยาชนิดอื่น ๆ มากกว่า เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องไส้ปั่นป่วน พฤติกรรมการทานอาหารเปลี่ยนไป อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลดลง เวียนศีรษะ หรือท้องเสีย
ระยะเวลาที่สารในกัญชาอยู่ในร่างกาย
สารในกัญชาเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วอาจอยู่ในเลือดและน้ำลายได้นาน 2–3 ชั่วโมง ในเส้นผมนานถึง 90 วัน ส่วนในปัสสาวะนั้นจะขึ้นอยู่กับความถี่และปริมาณของการใช้กัญชา
ยกตัวอย่างเช่น หากใช้เพียงครั้งเดียวจะตรวจพบได้หลังจากใช้ 1–3 วัน และอาจคงอยู่ได้นานถึง 13 วัน หากใช้เป็นประจำทุกวันอาจคงอยู่นานถึง 45 วัน และหากใช้ในปริมาณสูงมากอย่างต่อเนื่องจนเสพติดอาจมีสารคงอยู่ในปัสสาวะนานถึง 90 วัน
การเสพติดสารในกัญชาและอาการถอนยา
เมื่อร่างกายติดสารในกัญชาแล้ว หากต้องการหักดิบเลิกใช้กัญชาด้วยตัวเองอาจนำมาซึ่งอาการถอนยา เช่น รู้สึกกลัว วิตกกังวล สับสน ปวดศีรษะ ไม่มีสมาธิ มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ มีปัญหาในการนอนหลับ ตัวสั่น เหงื่อออกมาก ซึมเศร้ามากขึ้น และอยากกลับไปเสพกัญชาอีกครั้ง โดยอาการจะรุนแรงมากน้อยต่างกันไปในแต่ละคน
จะเห็นได้ว่า สารในกัญชานั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสียหากเราใช้เกินขอบเขตหรือปราศจากความระมัดระวัง ผู้ที่สนใจจะใช้กัญชาจึงควรพิจารณาถึงประโยชน์และโทษหรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเสมอ
สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์จากกัญชา ยกเว้นผู้ป่วยบางรายที่อาจได้รับอนุญาตจากแพทย์โดยตรง แต่ควรใช้ตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย
Credit : https://www.pobpad.com/%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8A%E0%B8%B2-thc-%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0-cbd-%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%A2